ความเป็นมาของการมี ชื่อโดเมน หรือ ชื่อเว็บไซต์ ที่ลงท้ายด้วย .TH ซึ่งเป็นชื่อโดเมนระดับบนสุดหมวดรหัสประเทศ ccTLD (Country Code Top-Level Domain) มีต้นกำเนิดมาจากการทดลองในยุคเริ่มต้นของการพัฒนาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในประเทศไทยซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2529 โดยความพยายามเชื่อมเครือข่าคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยของ ดร.กาญจนา กาญจนสุต และ ดร.โทโมโนริ คิมูระ อาจารย์ประจำในสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) เพื่อรับส่งอีเมล์กับมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับความร่วมมือจากนาย โรเบริต์ เอลซ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น โดยในขณะที่ยังมิได้มีการจดทะเบียนชื่อโดเมนรหัสประเทศไทยและเนื่องจากการ เชื่อมต่อยังไม่ได้ใช้ทีซีพี/ไอพี (TCP/IP) ทางออสเตรเลียได้พัฒนาโปรแกรม MHSnet เพื่อใช้ในการรับส่งจดหมายและแฟ้มผ่านอินเทอร์เน็ตซึ่งต้องใช้ชื่อโดเมนประจำคอมพิวเตอร์ ดร.กาญจนา กาญจนสุต จึงได้ขอจดทะเบียนชื่อโดเมนรหัสประเทศไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2531 ส่งผลให้มีชื่อโดเมนรหัสประเทศอยู่ในระบบดีเอ็นเอสภายใต้ชื่อ .th ตั้งแต่นั้นมา ภายหลังได้เกิดการขยายตัวของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ทำให้ต้องเปิดบริการจดทะเบียนชื่อโดเมน อย่างเป็นทางการขึ้น โดย ดร.กาญจนา กาญจนสุต และคณะได้รับภาระจัดหาบุคลากรเพื่อบริหารระบบชื่อโดเมนรวมทั้ง แสวงหาแหล่งทุนสนับสนุนการดำเนินการเพื่อก่อตั้ง ทีเอชนิค (THNIC: Thailand Network Information Center) ขึ้น สำหรับทำหน้าที่เป็นหน่วยงานดูแลระบบทะเบียนและให้บริการจดทะเบียนโดยมี สถานะเป็นศูนย์บริการ จดทะเบียนชื่อโดเมนซึ่งตั้งอยู่ภายในเอไอที ซึ่งให้บริการจดทะเบียน ชื่อโดเมนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแรกเริ่มเป็นกลุ่มสถาบันการศึกษา และองค์กรไม่แสวงผลกำไรอีกทั้งการบริหารและดูแลระบบเนมเซิร์ฟเวอร์และ ระบบข้อมูลอาศัยอาสาสมัครทั้งที่เป็น อาจารย์และนิสิตในมหาวิทยาลัย ชื่อโดเมนที่ ลงท้ายด้วย .th ที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นชื่อแรกคือ ait.th และมีชื่อโดเมนของมหาวิทยาลัย อีกสองแห่งคือ psu.th และ chula.th โดยในขณะนั้นยังไม่มีการแบ่ง ย่อยหมวดหมู่ของชื่อโดเมน .th
ในปี 2535 ประเทศไทยได้มีสถานภาพที่สามารถเชื่อมกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์ จากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเริ่มมีการอนุญาตจากภาครัฐให้เอกชนสามารถเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ในประเทศไทย จึงได้รับความนิยมและแพร่ขยาย เพิ่มขึ้นอีกจากการเปิดกิจการผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือไอเอสพีทำให้มี บริษัทธุรกิจ และหน่วยงานอื่นที่ทั้งดำเนินงานแบบ แสวงหาและไม่แสวงหากำไรเริ่มเข้ามาขอจดทะเบียนชื่อโดเมนเพิ่มขึ้นโดยส่วนใหญ่ยื่นขอบริการผ่านมาทางผ่านทางไอเอสพี ทำให้ทีเอชนิคเริ่มประสบปัญหาจากการที่บุคคลากร แบบอาสาสมัครไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ในขณะเดียวกันก็ไม่มีแหล่งทุนสนับสนุนใด ๆ โดยตรงเพื่อใช้ในการบริหารระบบชื่อโดเมนจึงเป็นที่มาของการการเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนชื่อโดเมนภายใต้ .th ขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2542 โดยกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนชื่อโดเมนแรกเริ่มในอัตรา 1,605 บาท (หรือ 55 เหรียญสหรัฐ) รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ค่าธรรมเนียมนี้จะครอบคลุมระยะเวลาสองปี และจากนั้นจะเสียค่าธรรมเนียมการรักษาชื่อโดเมนปีละ 856 บาท (หรือ 28 เหรียญสหรัฐ) รวมภาษีมูลค่า เพิ่มแล้ว
สำหรับชื่อโดเมนที่ได้จดทะเบียนไปก่อนหน้านั้นทีเอชนิคไม่ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า แต่จะเริ่มต้นเก็บค่าธรรมเนียมการรักษา ชื่อโดเมนปีละ 856 บาท
ทีเอชนิค จึงได้เริ่มดำเนินงานในรูปแบบนิติบุคคลบริษัทในชื่อ บริษัท ที.เอช.นิค จำกัด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2542 โดยมีทะเบียน นิติบุคคล เลขที่ บอจ.ปท.3725 โดยมีบุคลากรประจำขณะนั้น 11 คน และอาสาสมัครอีกจำนวนหนึ่ง สถานที่ตั้งปัจจุบันอยู่ภายในบริเวณอุทยานวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย (Thailand Science Park) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี หลังจากนั้นต่อมาเมื่อการขยายตัวของการจดชื่อโดเมนขยายจำนวนการจดเพิ่มไป พร้อม ๆ กับการขยายตัวสู่ความนิยมของภาคเอกชนในการใช้อินเทอร์เน็ต จึงได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านเครือข่ายขึ้นที่เอไอทีและได้ตกลง กันในครั้งนั้นว่าควร จัดหมวดหมู่ชื่อโดเมนประเทศขึ้น โดยในระยะแรกนั้นการจดชื่อโดเมนแบ่งออกเป็น 6 หมวดหมู่ ac.th, co.th, go.th, mi.th, net.th และ or.th ซึ่งผู้จดทะเบียน ชื่อโดเมนจะต้องได้รับการตรวจสอบหลักฐานและความเหมาะสมก่อนจะได้รับอนุมัติ ในชื่อโดเมนนั้นๆ ถัดมาในปี 2542 ทีเอชนิคได้มีการสอบถามความเห็นประชาชนทั่วไปผ่านทางหน้าเว็บเกี่ยวกับการ เพิ่มหมวดหมู่ชื่อโดเมนลำดับที่สอง ภายใต้ .th ชื่อใหม่นี้ จะเป็น in.th ( in เป็นชื่อย่อมาจาก in Thailand) และในที่สุดจึงได้มีการดำเนินการให้บริการในวันที่ 19 มีนาคม 2542 และในความเคลื่อนไหวล่าสุดจากการที่เริ่มมี การพยายามใช้ชื่อโดเมนที่ไม่ใช่ ASCII Character โดยเพิ่มความสามารถในการใช้ชื่อโดเมนเป็นตัวอักขระท้องถิ่น (Unicode Character) ทีเอชนิคจึงเริ่มเปิดให้จดทะเบียนชื่อโดเมนภาษาไทย ภายใต้โดเมนระดับบนสุด (Top Level Domain) .th ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2547 เป็นต้น อย่างไรก็ตามจากความพยายามยืนหยัดในวัตถุประสงค์เดิมของทีเอชนิค ทำให้ในปี 2550 ได้มีการจัดตั้ง มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (Thai Network Information Center Foundation – THNIC Foundation) ขึ้นเพื่อดำเนินงานแบบไม่แสวงหากำไรและมุ่งพัฒนาสังคมอินเทอร์เน็ต ของประเทศไทยในภาพรวม
ที่มา:ความเป็นมาของ .th - THNIC Foundation